วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาษาไทยธุรกิจ

การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)

                   เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  ลักษณะพิเศษของการสื่อสารแบบนี้คือ มีการเผชิญหน้ากันในระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร  ทำให้การสื่อสารสามารถพัฒนาต่อไปได้  เพราะสามารถแก้ไขได้ในทันทีทันใดหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น   เป็นการสื่อสารที่สมบูรณ์เนื่องจากครบวงจรมีปฏิกิริยาโต้ตอบเกิดขึ้นในการสื่อสาร  ทำให้ผู้ส่งสารรู้ว่าผู้รับสารเข้าใจในสารที่ส่งไปหรือไม่    ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีคุณภาพสมบูรณ์ที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในกระบวนการสื่อสารทั้งหมด การสื่อสารประเภทนี้แบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

1.    การสื่อสารแบบพบปะสนทนาไม่เป็นทางการ (person to person)
ไม่มีรูปแบบบังคับเป็นการพูดคุยกันธรรมดาในเรื่องที่พูดไป เช่น การสนทนาพูดคุยที่ใช้
ในชีวิตประจำวัน

2.    การสื่อสารกลุ่มย่อย (small group communication)
เป็นการสื่อสารที่มีรูปแบบบังคับว่าจะต้องเป็นการพูดสนทนาระหว่างบุคคล 3 คนขึ้นไป
มาพูดคุยกันในรูปแบบของการปรึกษาหารือ เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน  การประชุมนี้อาจจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้  แต่ต้องมีการกำหนดจุดประสงค์ เพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน อาจมีการจัดตั้งหัวหน้ากลุ่มอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ได้  แต่ผลสรุปที่ออกมาจะเป็นสิ่งที่ทั้งกลุ่มจะยอมรับ  และปฏิบัติตาม  ลักษณะของการรวมกลุ่มและ  ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม รวมทั้งบรรยากาศของการรวมกลุ่ม จะทำให้เราสามารถทราบได้ว่า การรวมกลุ่มในครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่  รวมทั้งผลสรุปที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะหากบรรยากาศในการรวมกลุ่มมีลักษณะไม่น่าพังประสงค์  เช่น  ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สมาชิกไม่มีความรู้สึกที่จะมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มเช่นนี้ ผลสรุปนั้นอาจจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของกลุ่มจริงๆ การสื่อสารประเภทนี้เหมาะสำหรับแก้ไขปัญหา  หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน เป็นการสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน


3.    การสื่อสารกลุ่มใหญ่ (Large Group Communication) หรือในบางครั้งก็เรียกว่า  การพูด
ในที่สาธารณะชน (Public Speaking)
                             เนื่องจากเป็นลักษณะของการสื่อสารที่มีลักษณะของการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก  ลักษณะของการสื่อสารแบบนี้คือ  การอภิปราย (Dissuscion)  การบรรยาย (Lecture)  หรือการปาฐกถา เป็นต้น  ผู้ส่งสารจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบกระบวนการสื่อสาร  โดยจะเป็นผู้ควบคุมให้กระบวนการการสื่อสารดำเนินไปในทิศทางต่างๆ
                             สารที่ใช้ในการสื่อสารได้ถูกเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีเพื่อการส่งออก  ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกับการสื่อสารมวลชนที่สารได้มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน  แต่ความแตกต่างจะอยู่ตรงที่  ถ้าหากเป็นการสื่อสารกลุ่มใหญ่  จะมีโอกาสพัฒนากระบวนการสื่อสารให้สอดคล้องกับบรรยากาศ  และผู้รับสารได้  โดยไม่เปลี่ยนจุดประสงค์  ทำให้การสื่อสารมีความเหมาะสม และ สามารถประสบผลสำเร็จได้มากขึ้น  ในขณะที่สื่อสารมวลชนไม่สามารถปรับเปลี่ยนการสื่อสารได้เลย  การสื่อสารประเภทนี้จะเน้นเรื่องของบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  และการมีอารมณ์ของกลุ่มผู้รับสารเป็นสำคัญ
                             ในการสื่อสารประเภทนี้ ผู้ส่งสารต้องมีความสามารถในการควบคุมทิศทางของกระบวนการสื่อสารให้เป็นไปตามที่ต้องการ  ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารกลุ่มย่อย เพราะจะมีลักษณะของการสื่อสารแบบทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งสาร หรือผู้รับสาร จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน บรรยากาศซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของการสื่อสารแบบนี้  เพราะสามารถทำให้ผู้รับสารเกิดความคล้อยตามได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น