วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน

การนำเอาแนวความคิดของทฤษฎีการเรียนรู้ไปพัฒนาพฤติกรรม

เนื่องจากการเรียนรู้นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก การนำเอาแนวคิดการเรียนรู้ไปใช้พัฒนาพฤติกรรมของคนเรา สามารถที่จะเริ่มจากการพัฒนาพฤติกรรมภายในไปสู่พฤติกรรมภายนอก หรือจากพฤติกรรมภายนอกไปสู่พฤติกรรมภายในก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมทั้งสองประเภทนี้มีผลซึ่งกันและกันนั่นเอง แต่ในกระบวนการพัฒนาตนนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะเริ่มต้นจากพฤติกรรมภายในไปสู่พฤติกรรมภายนอก เพราะว่าคนเรานั้นควรจะมีความตระหนักหรือต้องการที่จะพัฒนาตัวเองเสียก่อน จึงจะทำให้กระบวนการพัฒนาตนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นขั้นตอนในการพัฒนาตนนั้นจึงควรเริ่มจากการ  คิดดี  พูดดี และทำดี  ซึ่งถ้าทุกคนทำได้ก็จะทำให้สังคมมีความสงบ และความสุขมากขึ้น
ความคิดอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอุปนิสัยของคนเราทีเดียว     ดังคำกล่าวของ หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่กล่าวว่า                
         เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดของเธอ จะกลายเป็นความประพฤติของเธอ
           เธอจงระวังความประพฤติของเธอ เพราะความประพฤติของเธอ จะกลายเป็นความเคยชิน
           ของเธอ
           เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินของเธอ จะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ
           เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ เพราะอุปนิสัยของเธอ จะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต

การคิดดี หรือคิดในทางบวกนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่นักศึกษาทุกคนควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนาตน ซึ่งในการที่จะพัฒนาตนได้นั้นนักศึกษาจะต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นต่อไปนี้
1.นักศึกษาต้องมีความตระหนักในตนเอง ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาต้องรู้ตนเองตลอดเวลาว่าตนกำลังคิดอะไรอยู่หรือกำลังทำอะไรอยู่  เพราะถ้าบุคคลใดไม่รู้ตนเองว่าตนเองกำลังคิดหรือทำอะไรอยู่ บุคคลนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้เลย ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ตนเองมีความตระหนักได้นั้นสามารถทำได้โดยการที่นักศึกษาอาจจะจดบันทึกสิ่งที่ตนเองคิดหรือกระทำทุกวัน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณา ก็จะทำให้นักศึกษาทราบว่าตนเองมีความคิดหรือพฤติกรรมเช่นใด สมควรพัฒนาไปในทิศทางใด มากน้อยเพียงไร เช่น นักศึกษาอาจคิดว่าตนเองไม่มีเวลาอ่านหนังสือ นักศึกษาอาจเริ่มต้นโดยบันทึกว่า ในวันหนึ่งๆนั้น ตนเองได้ใช้เวลาทำอะไรบ้าง การบันทึกเช่นนี้ทำให้นักศึกษาได้รู้ถึงเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะจัดการอย่างใดกับเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันเพื่อให้มีเวลาในการอ่านหนังสือได้ หรือนักศึกษาอาจมีความวิตกกังวลกับการสอบ เนื่องจากกลัวว่าจะทำข้อสอบไม่ได้ดี ทำให้เกิดความวิตกกังวลสูง อาจมีผลทำให้หมดกำลังใจในการอ่านหนังสือ ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจและสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้
2.นักศึกษาจะต้องมีความคิดว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของตนเอง การที่จะทำคะแนนสอบได้ดี การที่มีเพื่อนมาก หรือการที่มีคนยอมรับตนเองนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากผลของการกระทำของเราทั้งสิ้น นั่นคือนักศึกษาสามารถจะบอกตนเองได้ว่า อดีตผ่านไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตเป็นสิ่งที่เรามีทางเลือก ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะประสบความสำเร็จเราก็จะสำเร็จ แต่ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคนอื่น หรือโชคชะตา เราก็จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง เพราะเรามัวแต่จะรอให้คนอื่นแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง หรือรอโชคชะตา ดังนั้น ประเด็นนี้จึงสำคัญมาก นักศึกษาต้องบอกเสมอว่า อนาคตเราเป็นผู้สร้าง  ผู้กระทำ เราจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
3.นักศึกษาจะต้องมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถ้าปราศจากซึ่งความปรารถนาทีจะเปลี่ยนแปลง นักศึกษาก็จะขาดแรงจูงใจที่จะกระทำ ดังนั้น นักศึกษาจะต้องบอกตนเองว่า ฉันต้องการพัฒนาตนเอง และฉันจะทำเดี๋ยวนี้ อย่ารอเวลาเพราะถ้ารอเราจะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเองอีกเลย
สิ่งเริ่มต้นที่จะพัฒนาตนเองนั้นน่าจะเริ่มต้นจากการตระหนักถึงความคิดของตนเอง และจัดการกับความคิดของตนเองเป็นอันดับแรกทั้งนี้ จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า ร้อยละ 75 ของความคิดของคนเราส่วนใหญ่ มักคิดในทางลบ (Helmstetter,1987)   ซึ่งความคิดไม่ว่าทางบวกหรือทางลบก็ตามเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ทั้งสิ้น  เมื่อบุคคลเกิดปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ผลกรรมที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมนั้นจะเป็นตัวกำหนดความคิดของคนเราต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งถ้าคนเรากระทำพฤติกรรมบางอย่างและได้รับผลกรรมที่ต้องการ เขาก็จะมีความคิดในทางบวกต่อสภาพแวดล้อมนั้น ในทางกับกันถ้าเขาได้รับผลกรรมทางลบเขาก็จะมีความคิดในทางลบต่อสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งถ้าความคิดในทางลบนั้นเกิดขึ้นบ่อยๆ  ก็อาจจะพัฒนาเป็นนิสัยการมองโลกในแง่ร้าย อันจะนำไปสู่การสร้างปัญหาให้กับตัวเองและสังคมรอบข้าง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ Helmstetter กล่าวว่า เป็นการวางโปรแกรมให้คนเราเกิดความเชื่อ  และความเชื่อทำให้คนเราสร้างทัศนคติขึ้นมา แล้วทัศนคติจะสร้างให้คนเราเกิดความรู้สึก ความรู้สึกก็จะไปกำหนดการกระทำ และการกระทำก็จะนำไปสู่ผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า สิ่งที่คนเราเชื่อหรือคิดไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นจริง ขอให้เราคิดหรือเชื่อว่ามันเป็นจริงมันก็สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งประเด็นนี้จัดได้ว่าเป็นอันตรายมากต่อการใช้ชีวิตของคนเรา เพราะจะนำไปสู่ความเชื่อที่ผิดๆ ดังนั้น นักศึกษาจึงควรที่จะตระหนักถึงความคิดหรือความเชื่อที่ผิดๆ หรือความคิดทางลบของตนเอง และควรจะเปลี่ยนความคิดทางลบเหล่านั้นให้เป็นทางบวก แต่กระบวนการดังกล่าวทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากคนเรามักจะติดกับความเคยชินที่คิดในทางลบ ดังนั้น เทคนิคแรกที่นักศึกษาควรจะฝึกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองนั้น คือเทคนิคการหยุดความคิด (Thought stopping)  เพื่อหยุดความคิดในทางลบของตนเองเสียก่อน ซึ่งแน่นอน หลักการประการแรกที่สำคัญที่สุดคือ นักศึกษาจะต้องตระหนักตนเองก่อนว่าตนเองกำลังคิดในทางลบอยู่หรือไม่ ถ้าพบว่า ตนเองกำลังคิดในทางลบอยู่ก็ให้ใช้เทคนิคการหยุดความคิด

วิชาศิลปและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ความหลากหลายของพันธุกรรม   
                กระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต     โดยการการคัดเลือกตามธรรมชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือองค์ประกอบทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นกับสภาวะแวดล้อม  ความหลากหลายของพันธุกรรมเป็นรากฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพื่อที่จะเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ    ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงศัตรูหรือ ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ  ความหลากหลายของพันธุกรรมภายในประชากรที่อาศัยอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ กันของสปีชีส์หนึ่ง  ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประชากรของสปีชีส์นั้นให้สามารถวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ กันได้อย่างเหมาะสมในระยะยามอีกด้วย (ภาพที่ 1)  ดังจะเห็นว่าพันธุ์พืชป่าจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยแปลงปรับตัวเพื่อต่อสู้กับสัตว์และพวกจุลินทรีย์ที่เป็นศัตรูอยู่ตลอดเวลา ในทำนองเดียวกันพวกสัตว์ที่เป็นศัตรูของพืชต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการที่จะเอาชนะพืชให้ได้ กระบวนการวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างพันธุ์พืชและสัตว์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความสอดคล้องของความหลากหลายทางพันธุกรรมของทั้งพืชและสัตวืดังกล่าว  เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ  เช่น พืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งอยู่ร่วมกับผีเสื้อชนิดหนึ่ง  โดยตัวหนอนของผีเสื้ออาศัยกินใบของพืชตระกูลถั่วชนิดนั้นเป็นอาหาร นักชีววิทยาค้นพบว่ามีความหลากหลายของพันธุกรรมหรือยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการสังเคราะห์สารแอลคาลลอยด์ชนิดต่าง ๆ ในพืชถั่ว  สารแอลคาลลอยด์บางชนิดมีสมบัติเป็นพิษต่อการดำรงชีวิตของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนั้นด้วย  และผีเสื้อนี้ก็มีความหลากหลายของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมเอนไซม์ที่ช่วยทำลายหรือยับยั้งสารพิษแอลคาลลอยด์รูปแบบต่าง ๆ  ของพืชด้วยเช่นกัน      ทำให้ทั้งพืชถั่วและผีเสื้อวิวัฒนาการร่วมกันอย่างสมดุลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
            ผลกระทบที่เด่นชัดที่สุดของประชากรธรรมชาติที่ขาดแคลนความหลากหลายของพันธุกรรม คือ การนำไปสู่สภาวะโฮโมไซโกซิตีของสมาชิกของประชากรนั้น   นอกจากนั้น  ประชากรที่ขาดความแปรผันทางพันธุกรรมยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดประสิทธิภาพของการอยู่รอดและความสมบูรณ์ในการสืบพันธุ์อีกด้วย  ผลกระทบต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะความกดดันของการผสมภายในสายพันธุ์ (inbreeding depression)  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียความยืดหยุ่นทางวิวัฒนาการอย่างแน่นอน
            การคัดเลือกพันธุ์ และเก็บรักษาพันธุ์พืชหรือสัตว์ เพื่อการเกษตรกรรม  โดยเก็บตัวอย่างจำนวนจำกัดของสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของเรา  คงไม่เกิดผลดีเท่าไรนัก เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรม  อันอาจก่อให้เกิดผลร้ายตามมาอย่างคาดไม่ถึง  การเพาะเลี้ยงสายพันธุ์พืช หรือสัตว์อาจได้รับการปกป้องรักษาโดยมาตรการควบคุมศัตรู  จะโดยการใช้สารเคมีหรือใช้ชีววิธีก็ตาม ก็ไม่ให้ผลดีเท่ากับสมบัติการต่อต้านหรือดื้อต่อศัตรูที่เกิดจากพันธุกรรม  ดังนั้น  การปรับปรุงพันธุ์ข้าว  ข้าวโพด  ข้าวสาลี จำเป็นต้องหาสายพันธุ์ที่มียีนที่ดื้อ หรือต่อต้านศัตรูพืชเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ  เพราะศัตรูพืชมีกลไกการปรับตัวทางพันธุกรรมที่จะทำให้มันสามารถอยู่รอดได้โดยอาศัยพืชเหล่านี้ด้วย  สิ่งจำเป็นพื้นฐาน    ของการปรับปรุงรักษาพันธุ์พืชหรือสัตว์ คือ การแสดงหาสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายของพันธุกรรมทั้งในด้านผลผลิต  และด้านความสามารถต่อต้านศัตรู  เพื่อนำมาใช้ในการผสมพันธุ์และการคัดเลือกสายพันธุ์ตามหลักวิชาการ  แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการตัดเลือกสายพันธุ์ คือ การสูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรมเสมอ  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์ในความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคที่เกิดจากธรรมชาตินั้นเอง  วงการเกษตรกรรมเคยฮือฮากับปฏิวัติเขียว หรือ กรีนเรโวลูชัน (green revolution) ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ที่ปรับปรุงพันธุ์ข้าว   และข้าวโพด ให้ได้ผลผลิตสูงเพียงพอกับความต้องการของ ประชาชนจำนวนมากในประเทศที่ยากจนและด้วยพัฒนาในโลกที่สาม  พันธุ์ข้าวและข้าวโพดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาในประเทศที่เจริญแล้ว จะให้ผลผลิตสูงมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านมีอยู่  หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมในเรื่องเกี่ยวกับน้ำ ปุ๋ย และยาปราบศัตรู แต่โดยธรรมชาติของเกษตรกรทั่วไปที่มุ่งหวังแต่ผลผลิตสูงเป็นประเด็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงหลักและความสำคัญของความหลากหลายของพันธุกรรม  ผลก็คือมีการนำเอาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาใช้แทนที่พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม    ซึ่งค่อย ๆ ถูกละเลยและถูกทอดทิ้งจนกระทั่งสูญหายไปในที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง  เป็นการนำเอาความเป็นเอกภาพของพันธุกรรม (genetic uniformity หรือ hemogeneity)     มาทดแทนความหลากหลายของพันธุกรรม  (genetic diversity)  ทำให้พันธุ์พื้นเมืองที่มีองค์ประกอบพันธุกรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในท้องถิ่นนั้น ๆ ต้องสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เสมือนเป็นการทำลายอู่ข้าวอู่น้ำที่มีค่าอย่างคาดไม่ถึง  ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่มีการทำลายธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อพลังงานไฟฟ้า   และการชลประทาน  การทำเหมืองแร่  การทำอุตสาหกรรมป่าไม้  การสร้างเมืองใหม่  การขยายพื้นที่เพาะปลูก ฯลฯ ย่อมนำไปสู่การสูญเสียพืชพันธุ์เก่าแก่ในท้องถิ่นดั้งเดิม  ซึ่งเป็นการทำลายความหลากหลายของพันธุกรรมโดยที่มิอาจเรียกกลับคืนมาได้อีก       ดังเช่นเหตุการณ์ที่น่าเสียใจที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สามอย่างเช่น    ไนจีเรีย   เอธิโอเปีย กลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ และในเอเชีย
            ความหลากหลายของพันธุกรรมในประชากรธรรมชาติจำเป็นต้องพิทักษ์รักษาไว้ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบของหน่วยพันธุกรรมรูปแบบใหม่ ๆ   ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ ๆ   ที่มนุษย์ต้องการ  ตัวอย่างการค้นพบข้าว  ข้าวโพด  มันฝรั่ง  มะเขือเทศ  และพืชชนิดอื่น ๆ ที่เป็นพันธุ์เก่าแก่และถูกทอดทิ้งอยู่ในป่ามาเป็นเวลานาน  ยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษย์ ดังจะเห็นว่า การค้นพบมะเขือเทศสปีชีส์ใหม่ 2 ชนิด ในป่าทึบของประเทศเปรู  สปีชีส์ที่ค้นพบใหม่เป็นพันธุ์เก่าแก่ที่หายากมาก นักวิทยาศาสตร์ได้นำเอามะเขือเทศพันธุ์เก่าแก่มาผสมพันธุ์กับพันธุ์ที่ใช้เพาะปลูกโดยเกษตรกรทั่วไปแล้วปรากฎว่า ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากกว่าพันธุ์ที่เคยใช้กันอยู่หลายเท่า และสามารถปรับปรุงพันธุ์ผสมใหม่ที่ได้ยีนมาจากพันธุ์ป่าเก่าแก่  ทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจต่อประเทศสหรับอเมริกาอย่างมหาศาลเกินค่าเงินที่ลงทุนไปในการวิจัยค้นหาพันธุ์เก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในป่านั้น
            การค้นพบสายพันธุ์ข้าวชนิดเก่าแก่ที่มีความต้านทานต่อโรคข้าวหลายชนิด แต่พันธุ์ข้าวเหล่านั้นมีคุณค่าท่างผลผลิตน้อยจนถูกละเลยในประเทศอินเดีย  ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวคัดเลือกเอายีนที่ต้านทานโรคข้าวได้ดีมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวปกติที่ให้ผลผลิตสูง  อันจะยังประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมาย

ภาษาไทยธุรกิจ

การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)

                   เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  ลักษณะพิเศษของการสื่อสารแบบนี้คือ มีการเผชิญหน้ากันในระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร  ทำให้การสื่อสารสามารถพัฒนาต่อไปได้  เพราะสามารถแก้ไขได้ในทันทีทันใดหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น   เป็นการสื่อสารที่สมบูรณ์เนื่องจากครบวงจรมีปฏิกิริยาโต้ตอบเกิดขึ้นในการสื่อสาร  ทำให้ผู้ส่งสารรู้ว่าผู้รับสารเข้าใจในสารที่ส่งไปหรือไม่    ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีคุณภาพสมบูรณ์ที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในกระบวนการสื่อสารทั้งหมด การสื่อสารประเภทนี้แบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

1.    การสื่อสารแบบพบปะสนทนาไม่เป็นทางการ (person to person)
ไม่มีรูปแบบบังคับเป็นการพูดคุยกันธรรมดาในเรื่องที่พูดไป เช่น การสนทนาพูดคุยที่ใช้
ในชีวิตประจำวัน

2.    การสื่อสารกลุ่มย่อย (small group communication)
เป็นการสื่อสารที่มีรูปแบบบังคับว่าจะต้องเป็นการพูดสนทนาระหว่างบุคคล 3 คนขึ้นไป
มาพูดคุยกันในรูปแบบของการปรึกษาหารือ เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน  การประชุมนี้อาจจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้  แต่ต้องมีการกำหนดจุดประสงค์ เพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน อาจมีการจัดตั้งหัวหน้ากลุ่มอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ได้  แต่ผลสรุปที่ออกมาจะเป็นสิ่งที่ทั้งกลุ่มจะยอมรับ  และปฏิบัติตาม  ลักษณะของการรวมกลุ่มและ  ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม รวมทั้งบรรยากาศของการรวมกลุ่ม จะทำให้เราสามารถทราบได้ว่า การรวมกลุ่มในครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่  รวมทั้งผลสรุปที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะหากบรรยากาศในการรวมกลุ่มมีลักษณะไม่น่าพังประสงค์  เช่น  ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สมาชิกไม่มีความรู้สึกที่จะมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มเช่นนี้ ผลสรุปนั้นอาจจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของกลุ่มจริงๆ การสื่อสารประเภทนี้เหมาะสำหรับแก้ไขปัญหา  หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน เป็นการสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน


3.    การสื่อสารกลุ่มใหญ่ (Large Group Communication) หรือในบางครั้งก็เรียกว่า  การพูด
ในที่สาธารณะชน (Public Speaking)
                             เนื่องจากเป็นลักษณะของการสื่อสารที่มีลักษณะของการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก  ลักษณะของการสื่อสารแบบนี้คือ  การอภิปราย (Dissuscion)  การบรรยาย (Lecture)  หรือการปาฐกถา เป็นต้น  ผู้ส่งสารจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบกระบวนการสื่อสาร  โดยจะเป็นผู้ควบคุมให้กระบวนการการสื่อสารดำเนินไปในทิศทางต่างๆ
                             สารที่ใช้ในการสื่อสารได้ถูกเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีเพื่อการส่งออก  ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกับการสื่อสารมวลชนที่สารได้มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน  แต่ความแตกต่างจะอยู่ตรงที่  ถ้าหากเป็นการสื่อสารกลุ่มใหญ่  จะมีโอกาสพัฒนากระบวนการสื่อสารให้สอดคล้องกับบรรยากาศ  และผู้รับสารได้  โดยไม่เปลี่ยนจุดประสงค์  ทำให้การสื่อสารมีความเหมาะสม และ สามารถประสบผลสำเร็จได้มากขึ้น  ในขณะที่สื่อสารมวลชนไม่สามารถปรับเปลี่ยนการสื่อสารได้เลย  การสื่อสารประเภทนี้จะเน้นเรื่องของบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  และการมีอารมณ์ของกลุ่มผู้รับสารเป็นสำคัญ
                             ในการสื่อสารประเภทนี้ ผู้ส่งสารต้องมีความสามารถในการควบคุมทิศทางของกระบวนการสื่อสารให้เป็นไปตามที่ต้องการ  ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารกลุ่มย่อย เพราะจะมีลักษณะของการสื่อสารแบบทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งสาร หรือผู้รับสาร จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน บรรยากาศซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของการสื่อสารแบบนี้  เพราะสามารถทำให้ผู้รับสารเกิดความคล้อยตามได้ง่าย

สุนทรียภาพของชีวิต

คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

          สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม และความไพเราะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องการ จริง ๆ แล้ว สุนทรียะยังหมายรวมถึงคุณสมบัติที่สามารถรับรู้ของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจพึงปรารถนา นอกจากความสวยและความงามที่ใช้ดูด้วยตาเป็นสื่อ ยังมีความไพเราะที่ต้องฟังด้วยหู กลิ่นหอมที่ต้องดมด้วยจมูก รสชาติที่ต้องชิมด้วยลิ้น การสัมผัสที่จะต้องใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องใช้จิตใจเป็นความรู้สึกในการรับรู้
            สุนทรียะจะต้องมีสื่อเพื่อที่จะช่วยให้คนได้รับรู้ ปราศจากสื่อก็คือการปราศจากการรับรู้ ไม่มีสื่อเสียแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะชื่นชมงานศิลปะใด ๆ ได้ คนตาบอดไม่สามารถชื่นชมความสวยงามได้ฉันใด คนหูหนวกก็ไม่สามารถชื่นชมเสียงดนตรีที่ไพเราะฉันนั้น
            ดนตรีเป็นสุนทรียะที่เกี่ยวข้องกับเสียง ดนตรีเกี่ยวข้องกับความไพเราะ เมื่อพูดถึงดนตรีแล้วก็หมายถึงความไพเราะ แต่ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นความไพเราะของใคร เพราะว่าแต่ละคนรับรู้ความไพเราะที่แตกต่างกันคนละระดับกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน คนจึงฟังดนตรีกันหลากหลายต่างชนิดกัน ชื่นชอบเพลงไม่เหมือนกัน
            ความรู้สึกของคำว่า รักคุณเท่าฟ้าทุกคนรู้โดยรวม ๆ ว่าฟ้านั้นกว้าง แต่ความกว้างของฟ้าของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฟ้าเป็นโลกทัศน์ของแต่ละคน ฟ้าเป็นความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งใหญ่และฟ้าเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นละเอียดอ่อน
            ทุกคนรู้สึกว่า เหงา  อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้ คำว่า เหงาของบางคนมีความหมายเล็กเกินไปกว่าความเหงาจริง เพราะรู้สึกว่าเราเหงามากกว่านั้น เหงาเหงาเหงาจะเขียนอีกสักกี่ตัว คำหรือภาษา ก็ยังเล็กไปสำหรับความรู้สึกที่มีความเหงาจริง
            ความรู้สึกปีติ ความอิ่มเอิบ ความภูมิใจ เมื่อได้พบกับความสวยงาม ความงาม ความไพเราะ ได้พบกับบรรยากาศ รสนิยม และคุณค่าที่ดี ความรู้สึกปีติเป็นพลังกายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับจิตใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นคนไปดูหนังผี เป็นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จริงแล้วคนดูหนังได้เตรียมตัวกลัวผีไปจากบ้านแล้ว ถ้าหนังผีสามารถสร้างความกลัวให้กับผู้ชมได้ถึงใจ คือ สร้างให้ผู้ชมเกิดความกลัวได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ถ้าหากว่าภาพยนตร์ไม่สามารถทำให้ผู้ชมกลัวได้ คือไม่น่ากลัว หนังผีเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เพราะหัวใจของหนังผีก็คือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ชม

ดนตรีในความหมายของสุนทรียศาสตร์

          ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ของดนตรีเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับเสียงลักษณะและคุณภาพของเสียง หนา-บาง สูง-ต่ำ ดัง-เบา สั้น-ยาว เล็ก-ใหญ่ ฯลฯ แหล่งกำเนิดเสียง คุณสมบัติของเสียง ศาสตร์เป็นความรู้ที่สามารถสืบทอดการเรียนรู้โดยการอ่านบอกเล่า ถ่ายทอดสู่กันฟัง การสืบค้นคว้าจากหลักฐานต่าง ๆ ความรู้สามารถคิดหาเหตุผลมาประติดประต่อได้ ความรู้สามารถเรียนรู้ได้โดยการจดจำ ท่องบ่น ทบทวน และที่สำคัญก็คือความรู้สามารถเรียนทันกันหมด ความรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
            การ ทรงจำดนตรี เอาไว้โดยการท่องบ่นแบบนกแก้วนกขุนทอง เป็นแต่เพียงคุณค่าของศาสตร์เท่านั้น การท่องบ่นเป็นการทำซ้ำ ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ขาดความมีชีวิตชีวา รวมทั้งความรู้รอบ ๆ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง กิตติศัพท์ เกียรติคุณ เป็นแต่เพียงแต่องค์ประกอบนอกเหนือดนตรีทั้งสิ้น
            สุนทรียะเป็นเรื่องของศิลป์ ดนตรีเป็นศิลปะของการเรียบเรียงเสียง นำเอาเสียงที่มีความสูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนา-บาง ดัง-เบา มาต่อกันโดยอาศัยความรู้ การนำเสียงมาต่อกันให้มีศิลปะ จึงจะเกิดเป็นความไพเราะขึ้น ถ้านำเสียงเอามาต่อกันแล้วไม่มีศิลปะก็ไม่เป็นดนตรี กลายเป็นเสียงอื่น ๆ ไป
            ความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นสุนทรียะ สืบทอดโดยการเล่าสู่กันฟังอย่างความรู้ไม่ได้ อ่านความไพเราะไม่ได้ ท่องจำความไพเราะไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ความไพเราะของดนตรีจะต้องสัมผัสด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์ตรงเท่านั้น
            การสัมผัสความไพเราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะคนไม่เกี่ยวกับวัย ไม่เกี่ยวกับวุฒิ ไม่เกี่ยวกับปัญญา ไม่เกี่ยวกับปรัชญา แต่ความไพเราะอยู่นอกเหนือปรัชญาและปัญญา


ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต 
          นักชีววิทยาคาดการณ์ว่าโลกเรานี้มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายหลายล้านชนิด  แต่ที่ได้ศึกษากันตามหลักวิทยาศาสตร์มีอยู่เพียงประมาณ 2 ล้านชนิดเท่านั้น  และในจำนวนสิ่งมีชีวิตที่รู้จักกันแล้วนี้มีอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น (ไม่ถึง  0.01%)  ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษา และตรวจสอบถึงศักยภาพและคุณค่าที่อาจเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมต่าง ๆ  ของมนุษย์  ทั้งโดยทางตรงทางอ้อม  ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ และด้วยในความรู้ของเราเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมโลกกับเรา เราอาจกล่าวอย่างมั่นใจได้ว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่รอคอยการศึกษาจากนักวิชาการ  โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในบริเวณป่าชื้นเขตร้อน (tropical rain forest)    ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางประมาณ  7% ของผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยทั่วโลก  ป่าชื้นเขตร้อนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ และ เอื้ออำนวยให้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากมาย เสมือนเป็นศูนย์กลางแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สมควรได้รับความสนใจดูแลรักษาสภาพไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศและของโลกด้วย  นักวิชาการคาดหมายว่ามีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านชนิดในป่าชื้นเขตร้อนในจำนวนสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่คาดว่ามีประมาณ 5 ล้านชนิดหรือมากกว่านั้น แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตเพียงประมาณ 5 แสนชนิดเท่านั้นที่ได้รับการศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ และคาดว่าในป่าชื้นเขตร้อนยังมีสิ่งมีชีวิตอีกจำนวนมากมายที่มีความหลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์  คงมีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยในป่าชื้นเขตร้อนที่ถูกทำลายสูญหาไปจากโลกนี้อย่างไม่มีวันที่จะหวนกลับคืนมาได้อีกโดยน้ำมือของมนุษย์จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม  ทั้ง ๆ ที่สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นอาจมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล หากว่าเราได้รู้จักมันและศึกษาหาความรู้จากมันเสียก่อน
            เราต้องยอมรับความจริงว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตโดยกลไกตามธรรมชาติ  เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่เร็วก็ช้า  มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตชนิดที่ปรากฎอยู่ในโลกปัจจุบันเป็นเพียงส่วนน้อยนิดประมาณ 1% ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จำนวนมากมายหลายร้อยล้านชนิดที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ในอดีตกาล  โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 600 ล้านปีที่ผ่านมา  มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีสิ่งมีชีวิตมากมายและหลากหลายที่สุด  จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของความหลากหลายทางชีวภาพทีเดียว เราอาจประมาณการณ์ได้ว่าอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวในอดีตกาล  เกิดขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 สปีชีส์ แต่ในปัจจุบันพบว่า  การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเป็นหลายร้อยหลายพันเท่าของอัตราสูญพันธุ์ในอดีตกาล  จะสังเกตว่า การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในพวกที่อาศัยอยู่ในป่าชื้นเขตร้อน  โดยเฉพาะในประเทศที่ด้วยพัฒนา และที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยเราด้วย การสูญเสียทรัพยากรสิ่งมีชีวิตอย่างากมายในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่สิบปีมานี้ ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์อย่างน่าอนาถใจยิ่ง  นักวิชาการประเมินอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตประมาณวันละ 1 ชนิด ในช่วงปี ค.. 1970 และเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 1 ชนิดในช่วงปี ค.. 1980 หากอัตราสูญพันธุ์เป็นไปในลักษณะเช่นนั้ก็เป็นที่เชื่อกันว่าภายใจสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จะมีการสูญพันธุ์ไม่น้อยกว่า  20-50%  ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกกลมใบนี้  และในจำนวนที่สูญพันธุ์ไปนี้จะเป็นการสูญเสียจากป่าชื้นเขตร้อนมากที่สุด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการทำลายป่าไม้ในเขตร้นอย่างมากมายในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
            ในระบบนิเวศที่สมดุล  การสูญเสียสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจมีผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่  มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี นักชีววิทยาได้ประมาณการณ์ว่า การสูญพันธุ์ของพืชชนิดหนึ่งสามารถส่งผลกระทบให้มีการสูญเสียแมลงและสัตว์อื่นในระบบนิเวศเดียวกันได้มากมากหลายชนิด อาจมากถึง 30 ชนิดก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจไม่ปรากฎชัดเจนในทันท่วงทีในระบบนิเวศที่ซับซ้อน